ย้อนกลับ

ข้อเสนอแนะจัดการทรัพย์สินผู้สูงอายุ ตอนที่ 1 : ฝ่าวิกฤตโควิด-19 ผ่านกลไกตลาดช่วยจัดการทรัพย์สินของผู้สูงอายุ ให้อยู่ได้เมื่อเจอพิษเศรษฐกิจ

โดย TGRI เมื่อ

วิกฤตการณ์ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยอย่างรุนแรง แน่นอนว่ามีผลต่อรายได้ของผู้สูงอายุที่ยังทำงานอยู่ ตลอดจนส่งผลกระทบต่อการจ้างงานและการประกอบอาชีพของลูกหลาน ซึ่งเป็นบุคคลที่มีผู้สูงอายุมีความคาดหวังว่าจะได้รับความช่วยเหลือในยามเกษียณ โดยมีผลการศึกษาระบุว่า ผู้สูงอายุที่หวังพึ่งพารายได้จากลูกหลานในการดำรงชีพหลังวัยเกษียณเป็นลำดับแรก มีจำนวนถึง 37.47 เปอร์เซ็นต์ นอกจากนี้เศรษฐกิจที่ถดถอยยังส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยมีแนวโน้มที่ต่ำลง ทำให้เงินออมที่ผู้สูงอายุสะสมไว้ไม่สามารถสร้างผลตอบแทนได้เพียงพอต่อการดำรงชีพในอนาคตในระยะยาวอีกด้วย ​สถานการณ์ดังกล่าวย่อมส่งผลให้การจัดการทรัพย์สินของผู้สูงอายุเป็นเรื่องที่ท้าทายและมีความจำเป็นมากขึ้น ขณะเดียวกันวิกฤตนี้ยังได้ส่งผลกระทบต่อภาระทางด้านการคลังของรัฐบาล ที่ต้องปรับโครงสร้างและฟื้นฟูเศรษฐกิจทางด้านต่างๆ ทำให้รัฐบาลมีความสามารถทางด้านการคลังที่จำกัดอีกด้วย ในเรื่องนี้รศ.ดร.สันติ ถิรพัฒน์และคณะ สถาบันพัฒนบริหารศาสตร์ ได้ทำการศึกษาในโครงการวิจัยย่อยที่1 การจัดการทรัพย์สินทางเลือกสำหรับผู้สูงอายุไทย ภายใต้แผนงานวิจัยการศึกษาการจัดการทรัพย์สินสำหรับผู้สูงอายุไทย ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนการวิจัย จากสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย และสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ได้เสนอแนะให้มีการ “ส่งเสริมการใช้กลไกทางด้านตลาดการเงิน” ที่มีอยู่ให้สามารถทำงานได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ในการช่วยเหลือผู้สูงอายุ มากกว่านโยบายที่ภาครัฐจะเข้าไปดำเนินการเองทั้งหมด โดยช้อเสนอแนะนี้นอกจากจะไม่เป็นภาระทางด้านงบประมาณแล้ว ต้องยอมรับว่าการดำเนินการของหน่วยงานรัฐที่มักไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร ทั้งนี้ผลการศึกษา ยังพบด้วยว่า ผู้สูงอายุมีความสนใจในเรื่องของสินเชื่อ Reverse Mortgage (สินเชื่อย้อนกลับ) หรือ ที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นกลไกทางตลาดการเงิน ในการจัดการทรัพย์สิน เพราะมีความเป็นไปได้สูงในการใช้กลไกนี้แปลงสินทรัพย์ที่ไม่มีสภาพคล่องของผู้สูงอายุ ให้เป็นกระแสเงินเพื่อใช้จ่ายดำรงชีพหากมีความจำเป็นได้ เพราะผู้สูงอายุอยู่อาศัยในบ้านที่ตนเองเป็นเจ้าของ ถึง 70 เปอร์เซ็นต์ โดยภาครัฐควรจะต้องมีนโยบายในการส่งเสริมเรื่องสินเชื่อย้อนกลับอย่างจริงจัง ให้ความรู้กับผู้สูงอายุให้ครอบคลุมยิ่งขึ้น เพื่อให้ผู้สูงอายุทราบถึงทางเลือกนี้หากมีความจำเป็นในการดำรงชีวิต นอกจากนั้นควรปรับปรุงรูปแบบสินเชื่อให้หลากหลายมากขึ้น เช่น การให้วงเงินเพื่อให้ผู้สูงอายุสามารถเรียกสินเชื่อที่มีความเหมาะสมกับตัวเองมากขึ้น และที่สำคัญควรพิจารณาการประกันสินเชื่อที่อยู่อาศัยเพื่อให้ผู้สูงอายุสามารถได้รับเงินงวดที่สูงขึ้นจากธนาคารเพื่อใช้ในการดำรงชีวิต และออกมาตรการเพื่อจูงใจให้ธนาคารพาณิชย์เข้ามาแข่งขันให้บริการสินเชื่อประเภทนี้ให้มากขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้ผู้สูงอายุสามารถเข้าถึงสินเชื่อได้ง่ายขึ้น ไม่ต้องพึ่งพาการให้บริการจากสถาบันการเงินเฉพาะกิจของภาครัฐแต่เพียงอย่างเดียว แนวทางนี้แม้ภาครัฐอาจต้องมีการสนับสนุนงบประมาณในการประกันสินเชื่อที่อยู่อาศัย แต่การสนับสนุนนี้เป็นลักษณะร่วมจ่ายกับผู้สูงอายุไม่ใช่ภาระของรัฐฝ่ายเดียว

ความคิดเห็นอื่นๆ