ย้อนกลับ

รายงานสถานการณ์ผู้สูงอายุไทย ปี 2562

โดย TGRI เมื่อ

รายงานสถานการณ์ผู้สูงอายุไทย ปี 2562 ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเพื่อการจัดสวัสดิการสำหรับผู้สูงอายุ การจัดสวัสดิการสังคมสำหรับผู้สูงอายุในประเทศไทยมีพัฒนาการที่น่าสนใจ ทั้งในแง่สิทธิประโยชน์และความครอบคลุม การจะส่งเสริมและพัฒนากลไกการดำเนินงานด้านสวัสดิการสังคมสำหรับผู้สูงอายุให้ดียิ่งขึ้น อาจทำได้โดยการพิจารณาถึงข้อเสนอแนะสำคัญ 3 ประการ หนึ่ง ทบทวนและคำนึงถึงความยั่งยืน อย่างจริงจังต่อการจัดสวัสดิการสังคมสำหรับผู้สูงอายุผ่านโครงการต่าง ๆ ของภาครัฐ ในการช่วยเหลือหรือส่งเสริมสวัสดิการสังคมสำหรับผู้สูงอายุที่มีการดำเนินการอยู่ในขณะนี้ เช่น การให้เบี้ยยังชีพที่เป็นหนึ่งในสวัสดิการด้านการทำงานและการมีรายได้สำหรับผู้สูงอายุ แม้ว่าจะช่วยบรรเทาความทุกข์ยากทางการเงินให้แก่ผู้สูงอายุได้เฉพาะหน้า แต่ขณะเดียวกันความท้าทายของภาระทางด้านงบประมาณของประเทศและวิธีการนำเงินที่ได้รับเพื่อไปสร้างประโยชน์หรือต่อยอดเพื่อให้เกิดความมั่นคงทางอาชีพและการดำรงชีวิตส่วนบุคคลในระยะยาว ยังคงเป็นโจทย์ใหญ่ที่ท้าทายให้ภาครัฐต้องขบคิดพิจารณา สอง ปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ เกี่ยวกับปรัชญาในการจัดสวัสดิการสังคมให้ก้าวทันกับการเปลี่ยนแปลงและมีความเป็นสากลมากยิ่งขึ้น ทั้งสำหรับผู้สูงอายุและประชากรกลุ่มวัยอื่นในสังคมไทย ด้วยการก้าวให้พ้นจากแนวคิดที่มุ่งเน้น ‘การสงเคราะห์’ ซึ่งมีกลุ่มเป้าหมายที่ค่อนข้างเฉพาะเจาะจง เพื่อเดินหน้าไปสู่การยอมรับแนวคิดการจัดสวัสดิการสังคมบนพื้นฐานของ ‘สิทธิพลเมือง’ ดังนั้น ในฐานะที่เป็นพลเมืองไทย ไม่ว่าจะเป็นเพศใด วัยใด หรือมีเศรษฐานะใด ต่างควรมีสิทธิในการเข้าถึงและได้รับการจัดสวัสดิการสังคมขั้นพื้นฐาน ทั้งจากภาครัฐและทุกภาคส่วนในสังคมอย่าง “ทั่วถึง” และ “ถ้วนหน้า” สาม กระจายความรับผิดชอบในการจัดสวัสดิการสังคมผ่านการสร้าง “หุ้นส่วน” ด้วยการให้ภาคส่วนต่าง ๆ ที่มีศักยภาพในสังคม ทั้งจากครอบครัว อาสาสมัคร ชุมชน ท้องถิ่น สถาบันศาสนา และภาคประชาสังคม รวมถึงภาคเอกชน เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดสวัสดิการสังคมสำหรับผู้สูงอายุอย่างเป็นรูปธรรม การลดบทบาทการเป็น “เจ้าของ” และการเพิ่มบทบาทการเป็น “เจ้าภาพ” ในการจัดสวัสดิการของรัฐ ไม่เพียงจะช่วยแบ่งเบาภาระทางงบประมาณของภาครัฐ แต่ยังเป็นการส่งเสริมขีดความสามารถในการจัดสวัสดิการสังคมของประเทศไทย เพื่อมุ่งสู่ “การเป็นสังคมสวัสดิการ” (Welfare society) อย่างแท้จริง ขอบคุณข้อมูลจาก : มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุ

ความคิดเห็นอื่นๆ