กิจกรรมวัยเก๋า: ชวนปลูก “ต้นอ่อนทานตะวัน” 7 วันเก็บกินได้
โดย Oactive เมื่อกิจกรรมวัยเก๋า: ชวนปลูก “ต้นอ่อนทานตะวัน” 7 วันเก็บกินได้
การปลูกต้นไม้เป็นอีกหนึ่งกิจกรรม ที่ชาววัยเก๋าสามารถทำเองได้ง่าย ๆ ที่บ้าน โดยวันนี้จะมาชวนชาววัยเก๋า “ปลูกต้นอ่อนทานตะวัน” พืชที่โตง่าย แค่ 7 วันก็สามารถเก็บเกี่ยวมาทำอาหารได้หลายเมนู
“ต้นอ่อนทานตะวัน” เป็นพืชที่อุดมไปด้วยสารอาหารที่ดีต่อสุขภาพ อาทิ ไฟเบอร์ โปรตีน ธาตุเหล็ก แคลเซียม สังกะสี โพแทสเซียม คาร์โบไฮเดรต และมีไขมันดี ที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายและช่วยควบคุมระดับคอเลสเตอรอลในเลือดได้อีกด้วย และยังมีวิตามินบี 1 บี 6 วิตามินอี วิตามินซี และเซเลเนียม กรดไขมันโอเมก้า 3, 6, 9 มีโฟเลทสูง
ในต้นอ่อนทานตะวัน มีสารชนิดหนึ่งที่มีชื่อเรียกว่า GABA (gamma aminobutyric acid) ซึ่งมีคุณสมบัติในการช่วยป้องกันโรค อาทิ โรคมะเร็ง โรคเบาหวาน ช่วยในการควบคุมน้ำหนัก บำรุงเซลล์สมอง ป้องกันการเกิดโรคอัลไซเมอร์ ช่วยบำรุงผิวพรรณ สายตา ชะลอความแก่ชรา
ก่อนจะปลูกมาเตรียมอุปกรณ์กันก่อนค่ะ
1. เมล็ดทานตะวันสีดำ ((Black Oil Sunflower Seeds สำหรับปลูก)
2. ถาดทึบแสง แบบมีรูระบายน้ำ สำหรับปลูก 2 อัน
3. ดิน
4. ขวดสเปรย์ฉีดน้ำเปล่า
เข้าสู่วิธีการเพาะ “ต้นอ่อนทานตะวัน”
1. ใช้เมล็ดประมาณ 1 กำมือ แช่เมล็ดไว้ในน้ำ 1 คืน
2. ใช้ถาด 1 ใบ เอามาใส่ดินลงในถาดสูงประมาณ 3 ส่วนของถาด และใช้ สเปรย์ฉีดน้ำเปล่าให้ทั่วดินพอชุ่ม
3. โรยเมล็ดทานตะวันที่แช่น้ำแล้วให้ทั่วถาด เติมดินบางๆ กลบเมล็ดอีกครั้ง แล้วฉีดสเปรย์น้ำให้ทั่วอีกครั้ง
และใช้ถาดอีกใบคว่ำปิดทับด้านบนไว้ วางไว้หลบแดด
4. เปิดถาดรดน้ำด้วยสเปรย์ วันละ 2 ครั้ง (เช้า-เย็น) หลังรดน้ำแล้วปิดกระบะไว้เช่นเดิมเพื่อเก็บความชื้น
5. ประมาณ 3-4 วัน ต้นจะสูงขึ้นประมาณ 1 นิ้ว
6. พอต้นเริ่มผลิใบออก 1 คู่ ให้หงายถาดวางทับไว้ด้านบน เพื่อบังคับให้ต้นทานตะวันงอกในระดับเดียวกัน จากนั้นฉีดสเปรย์รดน้ำเช้า-เย็น แล้วก็วางถาดทับไว้ด้านบนต่ออีก 2-3 วัน
7. หลังจากผ่านไป 5-6 วัน ลำต้นจะสูง 2-3 นิ้ว ให้เอาถาดที่วางทับออก จะเห็นใบมีสีเหลืองเพราะไม่โดนแสงแดด ให้นำถาดไปวางไว้ในที่ร่มห้ามโดนแสงแดด สักพักใบทานตะวันจะเริ่มเปลี่ยนเป็นสีเขียว ฉีดสเปรย์รดน้ำเช้า-เย็น
8. วันที่ 7-11 ก็สามารถเก็บเกี่ยวมากินได้ตามความชอบ สำหรับวิธีตัดราก ให้รวบต้นอ่อนทานตะวันเป็นกำๆ ใช้กรรไกรตัด ให้ห่างจากรากเล็กน้อย แล้วนำมาล้าง สะเด็ดน้ำผึ่งให้แห้ง เพื่อให้เก็บไว้ได้นานขึ้น