ย้อนกลับ

กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) อีกหนึ่งทางเลือกวางแผนเกษียณ

โดย Kritsachin เมื่อ

กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) อีกหนึ่งทางเลือกวางแผนเกษียณ

กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ(RMF) หรือ Retirement Mutual Fund คือกองทุนรวมที่มีวัตถุประสงค์ในการส่งเสริมการออมเงินระยะยาวเพื่อไว้ใช้ในยามเกษียณ ซึ่งจะมีความคล้ายกับกองทุนบำเหน็จบำนาญ (กบข) หรือ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (Provident Fund)  ซึ่งจุดเด่นของการลงทุนใน RMF ก็คือได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีสามารถนำไปหักลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 500,000 บาทและเพดานสูงสุดจะต้องไม่เกิน 30% ของเงินได้ในปีนั้น อีกทั้งยังสามารถเลือกระดับความเสี่ยงในการลงทุนได้ สลับปรับเปลี่ยนกองทุนได้ตามความเสี่ยงที่เรายอมรับได้

(Source: Freepik)

การลงทุนใน RMF เหมาะสำหรับ

  • ผู้ประกอบอาชีพอิสระ ที่ไม่มีโอกาสได้สะสมเงินลงทุนแบบปลอดภาษี และไม่มีสวัสดิการการออมเงินและระบบบำเหน็จบำนาญมารองรับ

  • ผู้ประกอบอาชีพประเภทลูกจ้าง ที่ไม่ได้เข้าร่วมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (Provident Fund) เนื่องจากนายจ้างไม่มีความพร้อมที่จะเตรียมกองทุนสำรองไว้ให้ลุกจ้างใช้ในยามเกษียณ

  • ผู้ประกอบอาชีพทั้งที่เป็นเอกชนหรือข้าราชการ ที่ต้องการเก็บออมลงทุนเพิ่มเพื่อเพิ่มความั่งคั่งในวัยเกษียณมากขึ้น

 

การลงทุน RMF ต้องพิจารณาอะไรบ้าง ?

  • เลือกบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนและประเภทของกองทุน โดยเลือกให้เหมาะกับความเสี่ยงที่เรายอมรับอย่างกองทุนตราสารหนี้ระยะสั้น-ยาว กองทุนตราสารทุนและกองทุนรวมแบบผสม

  • ศึกษารายละเอียดนโยบายการลงทุนและเปรียบเทียบผลการดำเนินงานของแต่ละกองทุนโดยเน้นดูกองทุนที่สร้างผลตอบแทนอย่างสม่ำเสมอในระยะยาว

  • ประเมินความเสี่ยงที่ยอมรับได้ ในช่วงวัยทำงานเป็นช่วงที่สามารถยอมรับความเสี่ยงได้สูงก็ควรจัดสัดส่วนกองทุนเป็นตราสารทุน (หุ้น) เป็นส่วนใหญ่เพื่อผลตอบแทนที่สูงขึ้น หรือหากอยู่ในช่วงใกล้จะเกษียณก็จะไม่สามารถยอมรับความเสี่ยงได้มากนัก เราอาจจะจัดสัดส่วนกองทุนที่มีความเสี่ยงสูงในสัดส่วนที่น้อยๆ เลือกลงทุนในกองทุนที่มีความเสี่ยงต่ำ

 

เงื่อนไขในการลงทุนกองทุน RMF

  • ต้องลงทุนอย่างต่อเนื่องจนถึงอายุ 55 ปี ห้ามขาดการลงทุนเกินกว่า 1 ปี(ลงทุนแบบปีเว้นปีได้)

  • ลงทุนเท่าไหร่ก็ได้ ไม่กำหนดเงินลงทุนขั้นต่ำ

  • ซื้อ RMF ได้สูงสุดไม่เกิน 30% ของรายได้ที่ต้องเสียภาษี และเมื่อรวมกับการลงทุนกองทุนสำร้องเลี้ยงชีพ (Provident Fund) และกองทุนบำเหน็จบำนาญ (กบข) แล้วจะต้องไม่เกิน 500,000 บาทต่อปี

  • การขายคืนหน่วยลงทุนก่อนกำหนดกรณีอายุยังไม่ถึง 55 ปี สามารถทำได้แต่ต้องลงทุนมาแล้วไม่ต่ำกว่า 5 ปี และต้องคืนสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่ได้รับในช่วง 5 ปี ให้กับกรมสรรพากร นอกจากนี้กำไรจากการขายคืนหน่วยลงทุนต้องนำไปคิดภาษีอีกด้วย

ด้วยเงื่อนไขการลงทุนที่ไม่ได้ซับซ้อน มีแผนการลงทุนให้เลือกอย่างหลากหลายและสร้างผลตอบแทนที่ค่อนข้างดี RMF จึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกหนึ่งในการวางแผนทางการเงินในวัยเกษียณ