อย่าให้ความเหงา ทำร้ายเราในวัยเกษียณ
โดย Oactive เมื่อ
ชีวิตวัยเกษียณที่ได้ปลดตัวเองจากหน้าที่การงานและภาระต่างๆ ทำให้มีเวลาว่างให้กับตัวเองมากขึ้น และในบางครั้งเวลาว่างเหล่านั้นก็อาจมีสิ่งหนึ่งที่เข้ามาแทนที่ ซึ่งก็คือ ‘ความเหงา’
โดยส่วนใหญ่วัยเกษียณมักจะเป็นช่วงวัยที่มีความเปลี่ยนแปลงและความเสื่อมถอยเกิดขึ้นกับร่างกายและจิตใจ ทำให้อาจมีปัญหาด้านสุขภาพและภาวะซึมเศร้า ดังนั้นเพื่อให้สังคมวัยเกษียณมีคุณภาพชีวิตที่ดี การหาวิธีรับมือกับความเหงาเหล่านี้ จะช่วยให้สุขภาพจิตดีขึ้นได้ โดยมี แนวคิดหนึ่ง ที่เชื่อว่า ‘วัยเกษียณ’ หรือ ‘Retire’ นั้นมีความหมายของการดำเนินชีวิตที่น่าคิดแฝงอยู่ ได้แก่
R = Review หมายถึง การทบทวนเวลาที่ผ่านมาของชีวิตในอดีต
E = Emotion หมายถึง อารมณ์ความรู้สึกเพื่อรองรับสภาพของการเป็นคนว่างงาน หลังจากที่เราทำงานมานาน
T = Travel หมายถึง การท่องที่ยวเดินทางทบทวนความทรงจำเก่าๆ ที่เคยประทับใจ หรือไปที่ใหม่ๆ เพื่อเปิดโลกมากขึ้น
I = Induce หมายถึง การเป็นแบบอย่างที่ดี ในการนำประสบการณ์ที่สั่งสมมาตลอดชีวิต ขับเคลื่อนสังคมให้มีความก้าวหน้า
R = Religion หมายถึง ศาสนาเป็นหนทางแห่งความสงบสุข โดยวัยเกษียณคือช่วงเวลาแห่งการเชื่อมชีวิต โลก และธรรมชาติอย่างแท้จริง
E = Exercise หมายถึง การออกกำลังกายเพื่อมอบสุขภาพที่ดีให้ช่วงชีวิตที่ยังมีอยู่
จากความหมายแฝงของคำว่า Retire จะพบว่าช่วงวัยเกษียณไม่ได้หมายถึง ช่วงเวลาที่ต้องหยุดพักหรือครบกำหนดอายุจากการทำงานเท่านั้น แต่เป็นวัยที่ภาระหน้าที่ลดน้อยลง มีเวลาเป็นของตัวเองมากขึ้น เป็นช่วงเวลาที่จะเก็บเกี่ยวความสุขและความสงบตามที่ใจปราถนนา และยังสามารถใช้ประสบการณ์และความสามารถที่สั่งสมมา เพื่อประโยชน์ต่อสังคมได้
เคล็ดลับการจัดการความเหงาในวัยเกษียณ
● พัฒนาอารมณ์ให้เป็นคนมองโลกในแง่ดี
วัยเกษียณคือช่วงวัยที่ผ่านการพบเจอประสบการณ์ต่างๆ มากมาย ที่ทำให้เข้าใจชีวิตได้มากกว่าคนในวัยอื่นๆ การคิดบวกจึงเป็นการคิดอย่างมีเหตุผล โดยใช้ประสบการณ์ที่ผ่านมาเป็นตัวชี้วัด เช่น เมื่อถึงเทศกาลวันสำคัญ ครอบครัวอื่นๆ อาจมีลูกหลานกลับมาเยี่ยม ซึ่งแตกต่างจากครอบครัวของเราเอง ซึ่งลูกๆ อาจมีภาระหน้าที่การงาน หากคิดในแง่บวกและมีเหตุผลให้กับตัวเอง ก็จะทำให้ความเหงาและความน้อยใจไม่สามารถมาทำร้ายเราได้
● อยู่ร่วมกับสังคมที่ดี
ความเหนื่อยล้าจากการทำงานมาเกือบตลอดชีวิต เพราะต้องพบเจอปัญหาอุปสรรคจากที่ทำงาน รวมไปถึงปัญหาจากคน ซึ่งแต่ละคนก็มีนิสัยใจคอและความคิดที่แตกต่างกัน เมื่อถึงช่วงเวลาที่ต้องการพักผ่อน ควรเลือกใช้ชีวิตอยู่ใกล้ชิดกับกลุ่มคนที่ใช่ในสังคมที่ดี เช่น อยู่ในสังคมวัยเกษียณด้วยกันเอง เพราะคนในวัยเดียวกัน มักจะมีมุมมองหรือแนวคิดคล้ายๆ กัน พูดคุยเรื่องเดียวกัน ทำให้สนุกและไม่เหงา
● เลือกทำงานอดิเรกที่รัก
การเลือกงานที่รัก ไม่จำเป็นต้องมีความรู้ความสามารถมาก่อน เพราะความสำเร็จหรือผลงาน ก็คือความสุขและความภาคภูมิใจ หากเลือกทำงานอดิเรกที่มีความสนใจเป็นพิเศษ ก็ทำให้ยิ่งเกิดความสนุก ตื่นเต้น มีความมุ่งมั่นเพื่อให้เห็นผลงาน โดยวัยเกษียณส่วนใหญ่ มักจะมีความพร้อมทั้งในเรื่องฐานะและความเป็นอยู่ ความพร้อมทางด้านจิตใจ โดยเรื่องรายได้อาจไม่มีผลต่อสภาพจิตใจเท่ากับความภาคภูมิใจ และเมื่อไม่มีความกดดัน งานที่ทำจึงเป็นงานที่มีคุณภาพและมีคุณค่า ทำแล้วรู้สึกสนุกจนทำให้ลืมความเหงาได้
เรื่องของความเหงา ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะกับวัยเกษียณเท่านั้น แต่เมื่อเกิดขึ้นแล้วควรต้องมีวิธีการรับมือและจัดการ เพื่อไม่ให้มีผลต่อสภาพจิตใจของเราได้ วิธีรับมือกับความเหงาในวัยเกษียณเป็นเพียงส่วนหนึ่งที่ช่วยให้สามารถจัดการกับความเหงาได้ แต่การเป็นจิตใจที่เข้มแข็งคือการขจัดความเหงาได้อย่างแท้จริง